ร้อน ๆ อย่างนี้ทำแอร์ไว้ใช้เองกันดีกว่า
ร้อน ๆ อย่างนี้ทำแอร์ไว้ใช้เองกันดีกว่า
adminDIY แอร์กล่องมินิ แค่มีกล่องโฟม พัดลม น้ำแข็ง
ถือเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับการดับร้อนด้วยวิธีการง่ายๆ แบบของคุณ art_sarawut จากเว็บไซต์พันทิป ที่มีวิธีการทำแอร์คนยากโดยการใช้ของไม่กี่อย่าง แถมยังเป็นของที่หาซื้อได้แบบทั่วๆ ไปอีก ว่าแล้วตามไปดูกันดีกว่าค่ะว่าเขาทำกันอย่างไร จะได้ลองทำเลียนแบบดูบ้าง
สวัสดีครับ
ผมจะมารีวิวการทำ “แอร์คนยาก” หรือ Poor Man’s Air Cooler ที่ผมทดลองทำวันนี้ให้ดูกัน ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ได้ผลไหม มีประสิทธิภาพแค่ไหน
เรื่องของเรื่อง แรงบันดาลใจมันมาจากอากาศที่ร้อนมาในช่วงนี้นั่นล่ะครับ ไอ้ผมก็ขี้งก อยู่ห้องพัดลม หน้าร้อนทีไรก็รำพึงรำพันอยากจะย้ายไปห้องแอร์ พอพ้นหน้าร้อนก็ลืมคำพูดตัวเองหมด แล้วก็เวียนว่ายอยู่ในวัฏจักรนี้มา 2 ปีละครับ
ก่อนหน้านี้ ใน Youtube ผมเคยเข้าไปค้นคำว่า poor man’s ac (air conditioner), homemade air conditioner อะไรเทือกๆ นี้ แล้วเจอมีหลายวีดีโอเลยที่ฝรั่งเอาของเหลือใช้มาทำเจ้าแอร์คนจนนี่ วัสดุอุปกรณ์ก็หลากหลาย มีตั้งแต่กระติกพลาสติกดีๆ แพงๆ ไปจนถึงกล่องโฟมกับพัดลม PC ธรรมดาๆ
อันนี้พี่แกทำออกมาดูดีมาก หนึ่งในแรงบันดาลใจ
ทีนี้มาของผมบ้างละ
จริงๆ ก่อนทำนี่ผมก็ทำใจไว้ส่วนหนึ่งแล้วนะ ว่ามันคือการทดลองมากกว่าการพยายามสร้างอะไรเพื่อใช้งานจริงจัง คือ ถ้าไม่เวิร์คขึ้นมา ก็ไม่เสียใจมาก แต่ว่าไปมันก็ใช้งบพอสมควรเหมือนกันเลยครับ ดังนี้
1. กระติกโฟม (ขนาดประมาณ 10.5 x 17.5 x 10 นิ้ว) (กว้าง*ยาว*สูง) = 120 บาท
2. พัดลม USB แบตเตอร์รี่ (หน้ากว้าง 4.0 นิ้ว) = 269 บาท
3. ท่อ PVC ข้อต่อโค้ง (ขนาด 4.5 นิ้ว) = 60 บาท
รวม 449 บาท
ราคาของอาจแล้วแต่ละท่านจะพบเจอหามาได้ อย่างกล่องโฟมบางท่านอาจเจอ 80 บาท ส่วนพัดลม จริงๆ เอาพัดลม PC แค่ 95 บาทก็ได้ และช่องลมออก (exit vent) จะใช้แค่ขวดน้ำ/ขวดเป๊ปซี่พลาสติกตัดเอาก็ได้
ที่ผมเจาะจงต้องใช้ข้อต่อท่อ PVC ก็เพราะผมต้องการใช้ช่องลมอยู่ด้านบน อยู่บนฝา ท่อมันจึงต้องโค้งเป็นมุมฉาก คือถ้าเจาะที่ด้านข้างตัวกระติกเลยช่องลมมันก็ขนานกับพื้นแล้ว เพียงแต่ตอนทำผมกลัวว่ามันจะทำให้สูญเสียระดับในการเก็บของในกระติกลงไป และดูไม่ค่อยเท่ด้วย 555
สรุป ราคาการสร้างจริงๆ แบบมือเปล่า สามารถลงต่ำได้ที่น้อยกว่า 200 บาท ส่วนของผมนี่เวอร์ไปเอง
วิธีทำ
ไม่มีอะไรยากเลยครับ อันดับแรก ทำใจ ที่จะลดทอนประสิทธิภาพของกล่องโฟมที่ซื้อมาใหม่ๆ ซิงๆ ทันที
เมื่อทำใจได้แล้ว เอาท่อ PVC (หรืออะไรก็ตามที่ท่านจะทำเป็นช่องลมออก) และ พัดลม สำหรับดูดอากาศเข้าไปทำความเย็นข้างใน วางทาบบนกล่องโฟมแล้วเอาดินสอ/ปากการ่างลงไปเลย
ร่างเสร็จ ก็เจาะเลยครับ ผมใช้คัตเตอร์อันละ 20 กว่าบาทเจาะ ไม่ยากเย็นอะไร ขอบที่ได้เรียบเนียนปิ๊ง ถ้าขนาดไม่เป๊ะ ยังมาเกลาต่อทีหลังได้ด้วย
อันนี้แนะนำ ระวังอย่าเจาะรูใหญ่กว่าอุปกรณ์นะครับ ใหญ่แล้วมันปิดลำบาก คงต้องใช้เทปกาวหรืออะไรมาซีลเอาอีก วุ่นวาย ตัดเล็กกว่าแบบเล็กน้อยแล้วค่อยมาเกลาเอาก็ได้ครับ
รวมวาดกับเจาะ ไม่น่าถึง 10 นาที แป๊ปเดียว
เจาะแล้วใส่ช่องลมออกไปแล้ว ขออภัยลืมถ่ายตอนก่อนใส่ฮะ มันคับนิดนึง ต้องหมุนๆ ดันๆ หน่อย ฟิตพอดีเป๊ะครับ
ช่องลมออกขนาด 4.5 นิ้ว
พัดลม หน้ากว้าง 4.0 นิ้ว
ดูจากรูปเฉยๆ เหมือนช่องลมออกดูใหญ่ แต่อย่าลืมว่า ขนาดพัดลมปกติที่เราใช้กัน หน้ากว้าง 14, 16, 18 ฯลฯ นิ้ว ผมคิดว่าถ้าทำขนาดช่องลมเข้า-ออกเล็กเกินไป ลมเบาบางเกิน ก็ต้องมานั่งจ่อกันกว่าจะรู้สึกถึงความเย็น
แต่แน่นอน ถ้าขนาดพัดลมใหญ่ไป น้ำแข็งก็ละลายเร็ว
แต่ละท่านคงต้องลองกะกันดูเองให้ขนาดมันสัมพันธ์กับขนาดของกระติกนั่นล่ะนะครับ
เสร็จแล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก เติมน้ำแข็งแล้วมาทดลองกันเลย
น้ำแข็งหลอด 20 บาท น่าจะสักราวๆ ครึ่งกระติก
ระยะไกลสุดที่รู้สึกได้ถึงไอเย็น คือ ประมาณ 5 ฟุต หรือ 1.5 เมตร นี่คือรู้สึกถึงลมเบาๆ เป็นไอเย็น
ส่วนถามว่าเย็นไหม ตอบว่า เย็นครับ โดยในตอนแรกๆ นี่จะเย็นมาก เย็นแบบเย็นเจี๊ยบ ผมว่ามันเย็นกว่าเป่าลมจากตู้เย็นออกมาอีกนะ
ใน VDO ทำนองเดียวกันนี้ใน Youtube ที่พวกฝรั่งทำ ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ ได้กันที่ราว 10 องศา นี่คือ ณ ที่ช่องลมออก ครับ
การใช้งาน ด้วยขนาดเท่านี้ มันต้องจ่อๆ ใกล้ๆ หน่อยครับ ก็ไม่ควรเกิน 1 เมตร ตามภาพ
อาจใช้ตอนนั่งเล่นคอมพ์ หรือจ่อเวลานอน
แล้วก็มาถึงคำถามสำคัญ
*** “มันให้ความเย็นได้นานแค่ไหน?” *** คำตอบคือ น้ำแข็งหลอด 20 บาท จะละลายจนเป็นน้ำทั้งหมด ในประมาณ 90 นาที หรือ 1.30 ชั่วโมง (อย่างมากสุด)
ทั้งนี้ หลังละลายแล้ว ลมจะยังเย็นอยู่ เพราะน้ำข้างในยังเย็นจัด และลมออกจะเย็นน้อยลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับอุณหภูมิห้อง (ประมาณ 30 องศา ณ วันที่ทดลอง) ภายใน 2 ชั่วโมง
ทริค
น้ำแข็ง ยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งละลายช้าครับ อันนี้ก็ดูที่ฝรั่งเค้าทดลองมาก่อนเหมือนกัน กรอกน้ำใส่ขวดลิตร แช่ช่องฟรีซ จะยืดระยะเวลาทำความเย็นได้ แต่มากน้อยแค่ไหนผมเองยังไม่ได้ทดลองเหมือนกันแหะ และเมื่อน้ำแข็งละลายมันก็จะอยู่ในขวด ไม่เลอะเทอะหรือต้องยกไปเททิ้ง น้ำกลับไปแช่ได้เลย
อาจทำน้ำแข็งไว้ก่อนไปทำงาน แล้วก่อนนอน (แข็งทันมั้ย?) ค่อยเอาออกมาเป่าเย็นๆ ก่อนนอน อาจจะได้ครับ
สรุป
ถ้าต้องลงทุนหลายร้อยบาท ผมว่าไม่คุ้ม เย็นแบบต้องจ่อ ไม่ได้ลดอุณหภูมิห้องทั้งห้องลงได้
อารมณ์ว่านี่คือ แอร์รถยนต์ ประมาณนั้นเลย มันเย็นเจี๊ยบถึงใจจริงๆ (ตอนแรกที่ทำ ลมออกมาผมยังร้อง เฮ้ย เย็นมากอ่ะ) แต่อยู่แค่ประมาณ 30 – 45 นาที แล้วค่อยๆ fade ลดความเย็นลงไป ถ้าเป็นน้ำแข็งหลอด เพราะพอน้ำแข็งละลายมากจนกลายเป็นน้ำปนน้ำแข็ง
ลมที่พัดเข้ามา มันจะกระทบกับผิวน้ำแล้วออกช่องลมออก ถึงหอบเอาความเย็นมาไม่ได้มาก ไม่เหมือนเป่าผ่านก้อนน้ำแข็งตรงๆ
คิดว่าผ่านไป 1.30 ชั่วโมง ลมยังเย็นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป่าลมออกจากตู้เย็น แต่หลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่แล้ว
ปัญหาสำคัญที่สุดคือ น้ำแข็งละลายเร็วมาก แม้ผมจะใช้พัดลมขนาดแค่ 4.0 นิ้ว และยิ่งถ้าท่านใช้พัดลมที่แรงมากเท่าไหร่ น้ำแข็งมันก็ยิ่งละลายเร็วขึ้นเท่านั้น
ถ้าอากาศร้อนมากชนิดทนไม่ไหว อยากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉยๆ ก็ลองทำดูก็ได้ครับ แต่คิดว่ามันไม่สามารถเป็นตัวแก้ปัญหาจริงๆ จังๆ ได้ครับ
คิดคร่าวๆ ว่า ผมใส่น้ำแข็งหลอดเต็มๆ กระติก น่าจะสัก 40 บาท น่าจะอยู่ได้ถึง 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น นี่คือเอาแค่จนน้ำแข็งละลายหมด แต่หลังจากนั้นลมจะยังเย็นจากน้ำที่เย็นอยู่ต่อได้อีกสัก 30 นาที
ก็ตีไป ระยะเวลาการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ ลมเย็นชื่นใจ สูงสุดราวๆ 2 – 2.30 ชั่วโมงครับ บางทีถ้าใช้น้ำแข็งก่อนใหญ่ๆ อาจได้นานกว่านี้ ต้องลองครับ
ก็นั่นล่ะครับ ทำความเย็นแบบระยะกระชั้นชิด ได้ที่ระยะเวลานานสุด 1, 1.30, หรือ 2 ชั่วโมง ถามใจว่าโอเคมั้ย
ฝรั่งหลายๆ คนพูดเหมือนกัน ว่า ถ้าไอนี้ใช้ในเต็นท์ (ซึ่งขนาดเล็ก) มันน่าจะแจ่มไปเลย
แต่นั่นล่ะครับ ถ้าเป็นห้องจริงๆ (ประมาณ 4 x 5 เมตร) >>>ไม่พอครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://home.sanook.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น