แอร์ไม่เย็น ซ่อมเองได้ ไม่ต้องง้อช่าง
แอร์ไม่เย็น ซ่อมเองได้ ไม่ต้องง้อช่าง
adminหากอยู่ดีๆ แอร์ไม่เย็นขึ้นมาแม้ดูทุกอย่างปกติก็ตาม ก็มักจะเป็นเรื่องชวนปวดหัวขึ้นมาในบ้านกันทันที เพราะการหาช่างแอร์มาซ่อมในทันทีคงยาก ต้องรอนัดกันวันสองวัน โทรไปบางรายก็คิวยาว จะโทรไปตามเบอร์ที่ติดโฆษณาตามเสาไฟฟ้าก็ไม่รู้ว่าร้านจริงๆอยู่ไหน กลัวว่าจะโดนฟันหัวแบะ หรือมีปัญหาแล้วไม่รู้จะไปตามที่ไหน วันนี้เราเลยมีวิธีซ่อมแอร์ง่ายๆ ซึ่งพ่อบ้านทั่วไปสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องง้อช่าง ไม่ต้องเสียเวลารอกันนะครับ
****แต่ต้องขอหมายเหตุตัวใหญ่ๆนะครับว่า วิธีนี้ใช้ได้กับแอร์ธรรมดาที่ไม่ใช่ระบบ inverter นะครับ
วิเคราะห์สาเหตุอาการแอร์ไม่เย็น
ปัญหาแอร์ไม่เย็นหากแม้มีลมออกมาจากเครื่องปรับภายในห้องนั้นมีหลักๆอยู่สองกรณีคือ
– คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน
– น้ำยาทำความเย็นหมดไป หรือแห้งไป
ปัญหาน้ำยาทำความเย็นหมดไปนั้น มักจะเกิดกับแอร์เก่าๆ ที่รอยเชื่อมของท่อทองแดงเสื่อม เกิดตระกันกัดกร่อนบริเวณรอยต่อเท่านั้น น้ำยาทำความเย็นในระบบแอร์นั้นเป็นระบบปิด ไม่มีทางที่จะหลุดออกไปได้หากมีการติดตั้งที่ดี ดังนั้นที่ต้องเติมน้ำยาแอร์บ่อยๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด จริงๆแล้วมักจะโดนช่างบางรายหลอกให้จ่ายตังค์เพิ่มซะมากกว่า เพราะหากตามช่างไปล้างแอร์ ค่าล้างจะอยู่ที่ประมาณ 400 – 500 บาท ถ้าได้เติมน้ำยาแอร์ช่างก็จะได้ไปอีก 300 บาท โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไร
ดังนั้นหากช่างมาล้างแอร์ก็ต้องยืนยันว่าไม่เติมน้ำยาแอร์ ให้เราเปิดแอร์ก่อนล้างว่ายังเย็นอยู่ พอล้างเสร็จความเย็นยังอยู่หรือไม่ หากไม่เย็นคนล้างก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าช่างบอกว่าน้ำยาแอร์เหลือน้อย ก็ถามกลับว่าแล้วน้ำยาแอร์จะรั่วไหลไปทางไหน
กลับมาในประเด็นคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน จะมีสาเหตุหลักมาจากอีก 2 สาเหตุคือ
– คอมเพรสเซอร์พัง
– ตัวคาพาซิเตอร์สตาร์ทพัง
โดยปกติแล้วคอมเพรสเซอร์เป็นอุปกรณ์หลักของระบบปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศยี่ห้อดีๆจะรับประกันอย่างน้อย 5 ปี หากภายใน 2 – 3 ปีแล้วเสียก็ส่งเคลมประกันได้ ซึ่งประเด็นนี้ช่างที่ไม่ซื่อสัตย์บางรายฉวยโอกาสหากินกับเราโดยแจ้งเราว่าคอมพ์เสีย แล้วจะขอถอดเอาไปซ่อม หากเจอกรณีนี้ควรจ่ายค่าเสียเวลาช่างไปเล็กน้อย แล้วตามช่างรายอื่นมาประเมินดีกว่า เพราะโอกาสเสียของคอมเพรสเซอร์มีน้อย คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่อยู่ได้นับสิบปี
ตัวที่มีโอกาสเสียมากที่สุดคือ คาพาซิเตอร์สตาร์ท พัง เนื่องจากตัวคอยล์ร้อนด้านนอกนั้นอยู่ในภาวะที่มีความร้อนสูง พื้นที่ภายในมีน้อย และสภาพอากาศภายนอกที่สูงอยู่แล้ว ทำให้อุณหภูมิบริเวณที่อุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้อยู่นั้นเกิน 60 องศาแน่นอน ตัวคาพาซิเตอร์หรือตัวเก็บประจุมีโอกาสบวม แตก จากความร้อนสูง
ถามว่าเขาต้องใส่ตัวนี้ไว้ทำไม นั่นก็เพราะคอมเพรสเซอร์ทำงานด้วยกระแสไฟฟ้าสลับแบบสองเฟส ทำให้การเริ่มต้นจังหวะการทำงาน ไม่สามารถรู้ได้ว่าไฟมาจากทางไหนแล้วไปทางไหน จึงต้องมีตัวคาพาซิเตอร์ไว้เริ่มต้นให้มีการหมุนของมอเตอร์ ดังนั้นอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่าง พัดลม ตู้เย็น แอร์ ที่ต้องมีมอเตอร์ในการหมุนจึงต้องมีตัวคาพาซิเตอร์ตัวนี้
เมื่อเรารู้สาเหตุส่วนใหญ่ที่แอร์จะไม่เย็นแล้วเราก็เริ่มซ่อมแซมกันเลย
ประเมินสถานการณ์
ข้อสังเกตที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าตัวคาพาซิเตอร์มีปัญหาแน่ๆ ให้ทำดังนี้คือ
– เปิดเครื่องปรับอากาศ ตั้งอุณหภูมิให้ต่ำสุดเช่น 20 โดยก่อนเปิดให้อีกคนไปฟังเสียงด้านนอกว่าฝั่งคอลย์ร้อน พัดลมทำงานหรือไม่
– พัดลมของคอลย์เย็นภายในบ้านทำงานปกติ กดปุ่มบนรีโมท แล้วทุกอย่างตอบสนองตามปกติเช่น ปรับความแรงพัดลมได้ ปรับการส่ายขึ้นลงได้ แสดงว่าระบบอิเลคทรอนิกส์ทำงานปกติ หรือ circuit board ยังทำงานปกตินั่นเอง
– หากด้านนอกพัดลมคอยล์ร้อนทำงาน แต่อากาศไม่ร้อน แสดงว่าคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน
– ยืนยันจากด้านในว่าอากาศไม่เย็นตามที่ควรจะเป็น
– จากนั้นปรับอุณหภูมิมาที่สูงสุดเช่น 30 – 31 องศา จะสังเกตเห็นว่าพัดลมด้านนอกหยุดทำงาน นั่นแสดงว่าระบบเซ็นเซอร์อุณหภูมิทำงานปกติ เพราะว่าอุณหภูมิในห้องนั้นต่ำกว่าค่าที่ตั้งไว้ (ในห้องน่าจะอยู่ราวๆ 28 – 29 องศา แต่เราตั้งไว้ที่ 30 องศา ระบบจะสั่งให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน) และยังจะเป็นตัวยืนยันว่า Magnetic Contact ยังทำงานปกติ
– จากนี้หากเราลดอุณหภูมิบนรีโมทลงอีก พัดลมที่คอยล์ร้อนด้านนอกจะไม่ทำงานทันที จะต้องรออีกราว 5 นาที ซึ่งเป็นระบบป้องกันคอมเพรสเซอร์เสียหายนั่นเอง
หากทุกอย่างเป็นไปตามที่ระบุข้างต้น เชื่อได้ว่าคาพาซิเตอร์สตาร์ทน่าจะเสียหาย เราก็สามารถซ่อมแซมเองได้ดังนี้
เปลี่ยนตัวคาพาซิเตอร์
– เริ่มจากการปิดระบบไฟของแอร์ให้เรียบร้อย เช่นเบรกเกอร์ที่ต่ออยู่กับเครื่องปรับอากาศ หากมีคนอยู่ในบ้านหลายคนเพื่อลดความเสี่ยงอาจจะต้องปิดไฟทั้งบ้านแล้วแจ้งให้ทุกคนทราบว่าจะมีการซ่อมแอร์ ห้ามเปิดไฟ
– เปิดฝาตัวคอยล์ร้อนด้านนอก ซึ่งหากอยู่ที่สูงก็ต้องใช้บันได การเปิดฝาก็ทำได้ง่าย ไขน๊อตไม่เกิน 5 ตัว คือซ้ายขวาอย่างละ 2 ตัว และด้านตรงหน้าเรา 1 ตัว ส่วนด้านหลังที่ติดกับผนังมักจะไม่มีน๊อตอยู่แล้วเพราะพื้นที่คับแคบเขาออกแบบมาให้ไม่ต้องไปไขน๊อตด้านนี้อยู่แล้ว
– หาตัวกลมๆ สีเงินๆ ซึ่งมักจะมีสายไฟมาหาที่ตัวนี้อยู่ 3 สาย ก่อนที่จะถอดสายออกให้ถ่ายรูปไว้ด้วย เพื่อกันลืมว่าต้องต่อสายคืนอย่างไร
– ใช้ไขควงที่มีด้ามเป็นฉนวนงัดแต่ละสายออกมา ข้อควรระวังอย่าไปแตะตรงขั้วสายของตัวคาพาซิเตอร์เพราะอาจจะมีไฟแรงสูงอยู่ อย่าให้ปลายไขควงไปลัดวงจรระหว่างสองขั้วเดี๋ยวจะตกใจจนตกบันไดแล้วจะเป็นเรื่องอื่น เพื่อความปลอดภัยหลังทดสอบอาการแล้วอาจจะทิ้งไว้ซักวันแล้วค่อยมาถอดจะดีที่สุด เพื่อให้ประจุในตัวนี้หายไปก่อน
– ไปหาซื้อจากร้านขายแอร์ และร้านรับซ่อมแอร์ เดินดุ่มๆ เข้าไปแล้วบอกว่าขอซื้อแค้ป (cap ชื่อย่อของ capacitor ) โดยเอาตัวเก่าไปให้เขาดู ซึ่งปกติแล้วค่ามักจะอยู่ที่ 15 – 30 uF 450 V พยายามหาให้ค่าเท่าเดิมที่สุด ขนาดภายนอกใหญ่เล็กไม่สำคัญ ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 200 บาท หากหาไม่ได้ก็ขอให้มีค่าประจุ มากกว่าเล็กน้อยได้ อย่าเลือกที่มีค่าน้อยกว่า
– นำกลับมาใส่คืนที่เดิม จุดสังเกตคือ สายสัญญาณที่มาจากคอมเพรสเซอร์จะมี 3 สาย ซึ่งสองสายจะมาที่ คาพาซิเตอร์ ดังนั้นสายที่มาจาก คอมเพรสเซอร์ต้องอยู่คนละด้านของขั้วคาพาซิเตอร์
– อีกสายก็จะต่อเข้ากับด้านใดด้านหนึ่งของคาพาซิเตอร์ กลับไปเปิดภาพที่ถ่ายไว้ดูสีให้ตรงกัน
– เสร็จแล้วก็ยึดให้เข้าที่เหมือนเดิม แล้วไปเปิดแอร์ทดสอบความเย็นแล้ว ค่อยมาปิดฝา
เป็นอันเสร็จสิ้นการซ่อมแอร์ไม่เย็นด้วยตัวเอง แต่หากท่านไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้า ขอแนะนำให้ตามช่างมาดีที่สุดครับ แต่ควรติดตามช่างอย่างใกล้ชิดว่าเขากำลังทำอะไร อาจจะแสดงความรู้ว่า เช็คคัวแคปให้หน่อย หรือซื้อมาแล้วบอกให้เขาเปลี่ยนให้หน่อยแล้วจ่ายค่าแรงตามความเหมาะสมไป
ช่างบางคนที่จ้องจะเอาเปรียบเจอกรณีนี้จะหวานหมูเขาเลยละครับ เขาจะขอถอดคอมเพรสเซอร์ไป แล้วเอาไปเช็ด ขัด ให้ดูใหม่ๆ แล้วเอากลับมาใส่ให้เรา พร้อมคาพาซิเตอร์ตัวใหม่ แถมต้องมาเติมน้ำยาให้ใหม่ ฟันเราไปเหนาะๆ 3 – 4,000 บาท แน่นอน อย่ายอมให้ช่างคนแรกที่มาถอดคอมเพรสเซอร์ของเราไปได้ จนกว่าเขาจะลองเปลี่ยนคาพาซิเตอร์ให้เราดูก่อนนะครับ
หากเปลี่ยนตัวคาปาซิเตอร์แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ก็ขอแนะนำว่าตามช่างมาจะดีที่สุด แต่จากประสบการณ์ที่เจอที่ผ่านมา เจอแอร์ไม่เย็นมาประมาณ 6 ตัว ทุกตัวจะมีปัญหากับ คาปาซิเตอร์ทั้งนั้น ลองถามช่างบางร้านดูจะได้ไอเดียเลยครับว่า แอร์บางยี่ห้อจะมีปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งช่างบางท่านสันนิษฐานกันไปได้ว่าอาจจะเป็นล้อตการสั่งตัว capacitor จาก supplier บางรายในช่วงนั้นแล้วได้สินค้าที่มีปัญหามา เลยทำให้หมดอายุพร้อมๆกันหลายครัวเรือนในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน
ด้วยความเคารพทุกท่าน หากอยากลองทำเองก็โปรดใช้ความระมัดระวัง และถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ในฝั่งของช่างเองเขาก็มีต้นทุนในการเดินทาง ในการบริการวิเคราะห์ปัญหา แต่ก็ควรคิดค่าใช้จ่ายตามเหตุผลสมควร และควรแจ้งล่วงหน้าก่อนรับงานซ่อม เช่นการออกนอกพื้นที่ 1 ครั้งคิดขึ้นต่ำ 500 บาท ไม่รวมค่าของเป็นต้น
บทความนี้มีขึ้นเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่มีความรู้ทางช่างอยู่บ้าง แล้วต้องการทดลองซ่อมเองก่อนจะเรียกช่างเท่านั้น และการยกตัวอย่างก็เพราะแอดมินเองที่ผ่านมาเจอช่างที่ไม่ซื่อสัตย์มาบ้าง เลยเขียนไว้เป็นข้อมูลสำหรับคนที่เรียกช่างมาแล้วติดตามดูว่าช่าง ไม่ให้ทำอะไรเกินไปกว่าสิ่งที่ควรจะเป็นแล้วจะเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://thaimoneyadvice.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น